เหรียญรัชกาลที่ ๙ เหรียญกษาปณ์ไทย ในรัชการที่ ๙

เหรียญทีระลึก 600 บาท






          เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 120 ปี กระทรวงการคลัง (เนื้อเงิน ธรรมดา)


 รายละเอียด

ด้านหน้า – กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมพลอากาศ ทรงสายสร้อยจักรีและสายสะพายมหาวชิรมงกุฎ ประดับปีกเครื่องหมายนักบินและเหรียญราชอิสริยาภรณ์ และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมพล ทรงสายสร้อยจักรี ประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ด้านซ้ายมีข้อความว่า “รัชกาลที่ ๙” ด้านขวามีข้อความว่า “รัชกาลที่ ๕”
ด้านหลัง – กลางเหรียญมีเครื่องหมายของกระทรวงการคลัง ชิดวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “๑๒๐ ปี กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๔๑๘-๒๕๓๘” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ประเทศไทย” และข้อความบอกราคา
เส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร
น้ำหนัก 22 กรัม
ลักษณะ เหรียญกลม วงขอบนอกมีเฟืองจักร
วันที่ประกาศใช้ 30 มีนาคม พ.ศ. 2538
ชนิดราคา 600 บาท
ส่วนผสม :

เงิน ร้อยละ 92.5
ทองแดง ร้อยละ 7.5
ปีที่ผลิต : 2538

จำนวนผลิต : 17,000
ที่มา : กรมธนารักษ์








                                            หรียญเงิน 600 บาท 100 ปี รัชกาลที่ 7 ปี 2


เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในวโรกาส 100 ปี แห่งวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (เนื้อเงิน ธรรมดา)
กรมธนารักษ์ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในวโรกาสครบ 100 ปี แห่งวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์”

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตขณะที่ไม่มีพระราชโอรส สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา” ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 ในราชวงศ์จักรีตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และด้วยความเห็นชอบของคณะเสนาบดีที่จัดประชุมขึ้นเป็นกรณีพิเศษ

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยประสบปัญหามากมายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ซึ่งมีสาเหตุมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับข้าราชการและประชาชนได้รับวัฒนธรรมแนวความคิดทางการเมืองจากประเทศทางตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดจึงนำไปสู่การปฏิวัติยึดอำนาจจากองค์พระมหากษัตริย์ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีแนวพระราชดำริที่จะปรับเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาล จึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาทางด้านการเมืองการปกครอง และทำให้ล่าช้า ซึ่งมีผลให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเพื่อป้องกันเหตุการณ์รุนแรงระหว่างฝ่ายที่จงรักภักดีกับฝ่ายที่ทำการปฏิวัติอันจะนำความเดือดร้อนไปสู่ประชาชน พระองค์จึงทรงยอมรับเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตย

ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และคณะผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะมีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน คือให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ประชาชน แต่ทว่าทรงไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการและวิธีการของคณะราษฎร์หลายประการ ในที่สุด ทรงประกาศสละราชสมบัติขณะประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

หลังจากทรงประกาศสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษจนเสด็จสวรรคตเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ด้วยพระโรคปัจจุบันพระหทัยวาย

ใน พ.ศ. 2491 รัฐบาลได้ทูลเชิญเสด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี นิวัตประเทศไทย พร้อมอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าอันสมควรแก่พระบรมราชอิสริยยศ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยสืบไป

รายละเอียด :

ด้านหน้า – กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย ทรงฉลองพระองค์จอมพลทหารบก ทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ชิดวงขอบเหรียญมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ด้านหลัง – กลางเหรียญมีรูปพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ชิดวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “๑๐๐ ปี แห่งวันพระราชสมภพ” “ประเทศไทย” เบื้องล่างมีข้อความบอกราคา และข้อความว่า “๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๖” มีลายดอกประจำยามคั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่างทั้งสองข้าง
เส้นผ่าศูนย์กลาง 35 มิลลิเมตร
น้ำหนัก 22 กรัม
ลักษณะ เหรียญกลม วงขอบนอกมีเฟืองจักร
วันที่ประกาศใช้ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536
ชนิดราคา 600 บาท
ส่วนผสม :

เงิน ร้อยละ 92.5
ทองแดง ร้อยละ 7.5
ปีที่ผลิต : 2536

จำนวนผลิต : 12,000
ที่มา : กรมธนารักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น